แผนแม่บท ICT แห่งชาติฉบับที่ 2 - รายละเอียดฉบับย่อ
บทความนี้ได้มาจากต้นฉบับที่เว็บไซท์ Blognone.com เขียนโดย lch เห็นว่ามีความสำคัญต่ออนาคตของประเทศนี้ จึงขอนำมาเผยแพร่ต่อนะครับ
ขอเชิญอ่านกันได้เลยครับ
สืบเนื่องจากการที่แผนแม่บท ICT แห่งชาติฉบับที่ 2 ได้ประกาศใช้มาตั้งแต่เดือนสิงหาคม พ.ศ. 2552 แต่ผมเพิ่งจะได้มีโอกาสมายุ่งเกี่ยวและศึกษาแผนแม่บทนี้อย่างละเอียด จึงอยากนำมาสรุปให้ทุกท่านได้ย้อนมามองสาระสำคัญของแผนแม่บทนี้อีกสักครั้ง
ผมคิดว่าเราทุกคนโดยเฉพาะอย่างยิ่งชุมชน Blognone ไม่ควรจะมองข้ามแผนแม่บทนี้ อย่างน้อยก็น่าจะพอเห็นภาพและเข้าใจในระดับหนึ่งว่าการบริหารระดับประเทศ ตั้งใจจะพา ICT ของประเทศไทยไปในทิศทางใด เราจะได้ร่วมแรงร่วมใจกัน มุ่งพัฒนาให้ไปในทิศทางเดียวกัน เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เพื่อก่อให้เกิดศักยภาพอันสูงสุด
บทความชิ้นนี้เป็นการผสมผสานระหว่างข้อความดั้งเดิมจากแผนแม่บท การสรุปความจากแผนแม่บท และความเห็นส่วนตัวในบางส่วนเท่าที่จำเป็นครับ
เนื้อหาของบทความนี้แบ่งเป็น 3 ส่วนหลัก ได้แก่
- สรุปผลการวิเคราะห์ปัญหาด้าน ICT ของประเทศไทย
- สรุปวิสัยทัศน์ พันธกิจ วัตถุประสงค์ และเป้าหมายของแผนแม่บท
- สรุปแผนยุทธศาสตร์ทั้ง 6 ด้านของแผนแม่บท
สรุปผลการวิเคราะห์สถานภาพด้าน ICT ของประเทศไทย
ในส่วนบทแรก ๆ ของแผนแม่บทเป็นการวิเคราะห์สถานภาพทางด้าน ICT ของประเทศไทย ซึ่งได้จากการวัดจากดัชนีมาตรฐานต่าง ๆ และการทำ SWOT เป็นต้น ซึ่งสรุปออกมาได้ 5 ประเด็นดังต่อไปนี้
สถานภาพด้านโครงสร้างพื้นฐาน - ผลการวิเคราะห์พบว่า ประเทศไทยไม่มีปัญหาด้านการพัฒนาโครงข่ายหลัก (Backbone Network) แต่ปัญหาอยู่ที่โครงข่ายระดับปลายทาง (Last Mile Access) ที่ไม่เพียงพอ ไม่ครอบคลุม และด้อยคุณภาพ ซึ่งเป็นผลให้พื้นที่ห่างไกลและกลุ่มคนบางกลุ่มเช่น ผู้พิการ ผู้สูงอายุ เป็นต้น ยังไม่สามารถเข้าใช้งานได้ดีนัก ทั้งนี้เมื่อเปรียบเทียบการเข้าถึงเทคโนโลยีการสื่อสารดั้งเดิมเช่น โทรทัศน์ วิทยุ เป็นต้น (แผนแม่บทใช้คำว่า ปัญหาความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงสารสนเทศ)
สถานภาพของประชาชนทั่วไป - ผลการวิเคราะห์พบว่า คนไทยมีการใช้ ICT ในระดับต่ำ ส่วนผู้ที่เข้าถึง ICT แล้วนั้นก็ยังไม่ใช้ ICT ให้เกิดประโยชน์อย่างแท้จริง กล่าวคือใช้เพื่อความบันเทิงเป็นหลัก อีกทั้งมีการใช้งาน ICT ที่ไม่เหมาะสมอยู่มาก ซึ่งดูได้จากปริมาณของเนื้อหาที่ไม่พึงประสงค์ และอาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์ ที่มีเป็นจำนวนมาก
สถานภาพด้านบุคลากรทาง ICT - ยังขาดบุคลากรทางด้าน ICT อีกมาก ทั้งในด้านคุณภาพและปริมาณ
สถานภาพด้านบุคลากรในภาครัฐ - ก็ยังขาดบุคลากรทางด้าน ICT ทั้งคุณภาพและปริมาณเช่นกัน โดยเน้นด้วยว่าเกิดจากผลตอบแทนต่ำและขาดแรงจูงใจที่เหมาะสม
สถานภาพด้านการบริการจัดการ - ประเทศไทยมีหน่วยงานทางด้าน ICT เป็นจำนวนมากพอสมควร แต่มีการทำงานที่ซ้ำซ้อน ต่างคนต่างทำ ไม่เป็นเอกภาพ ไม่ว่าจะเป็นด้านการวางแผน การกำกับดูแล การจัดการงบประมาณ เป็นต้น เป็นผลให้งานต่าง ๆ ขาดการบูรณาการ ขาดผู้รับผิดชอบที่ชัดเจน และขาดการประเมินผลและติดตามผลอย่างจริงจัง
จากผลการวิเคราะห์ดังกล่าว ผมคิดว่าข้อ 2 เป็นข้อที่ประชาชนทุก ๆ คนต้องตระหนักและพยายามปรับปรุงให้นำสิ่งที่ประเทศของเราได้ลงทุนไปมาใช้ ประโยชน์อย่างเต็มที่ครับ การใช้ ICT เสพสื่อบันเทิงผมว่าก็ไม่เป็นไร แต่ควรจะใช้ทำอย่างอื่นเป็นจริงเป็นจังด้วยเท่านั้นเอง ผมขอตัวอย่างง่าย ๆ ครับ นักศึกษาในมหาวิทยาลัยติด Facebook กันงอมแงม และกระหน่ำโหลดภาพยนต์และเพลงกันทั้งวันทั้งคืน การใช้งานอินเทอร์เน็ตเพื่อการเรียนและพัฒนาตัวเองนั้นน้อยมาก ถ้าแนวโน้มยังเป็นเช่นนี้ต่อไป ก็นับว่าน่าเป็นห่วงนะครับ
สรุปวิสัยทัศน์ พันธกิจ วัตถุประสงค์ และเป้าหมาย
จากสถานภาพปัจจุบันของประเทศไทยดังที่วิเคราะห์ข้างต้น เรามาดูกันครับว่ากระทรวงไอซีทีได้วางแผนอะไรไว้บ้างเพื่อจะแก้ปัญหาดัง กล่าวครับ
วิสัยทัศน์
ประเทศไทยเป็นสังคมอุดมปัญญา (Smart Thailand) ด้วย ICT
วิสัยทัศน์ คือ จินตนาการของสิ่งที่จะเกิดขึ้นหลังจากที่เราทำตามแผนแม่บทนี้ครับ คำสำคัญอยู่ที่วลีที่ว่า ด้วย ICT วลีนี้สะท้อนให้เห็นความต้องการที่จะให้ ICT เข้าไปแทรกอยู่ในทุกภาคส่วนของสังคมทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลัง ดังนั้นสิ่งที่แผนนี้อยากให้เกิดขึ้นคือ สังคมของเราจะเป็นสังคมที่แข็งแกร่ง อุดมปัญญาและอุดมไปด้วยการใช้งาน ICT อย่างมีวิจารณญาณ รู้เท่าทัน ชาญฉลาด และให้เกิดประโยชน์สูงสุดครับ
พันธกิจ
พัฒนากำลังคนให้มีคุณภาพและปริมาณที่เพียงพอ ทั้งบุคลากรด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT Professionals) และบุคลากรในสาขาอาชีพอื่น ๆ ทุกระดับ ที่มีความรู้ความสามารถในการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศอย่างมีประสิทธิภาพ มีวิจารณญาณและรู้เท่าทัน อย่างมีคุณธรรม จริยธรรม เพื่อร่วมขับเคลื่อนประเทศไทยสู่สังคมและเศรษฐกิจฐานความรู้และนวัตกรรม อย่างยั่งยืนและมั่นคง
พัฒนาโครงข่ายสารสนเทศและการสื่อสารความเร็วสูงที่มีการกระจายอย่าง ทั่วถึง มีบริการที่มีคุณภาพ และราคาเป็นธรรม เพื่อให้เป็นโครงสร้างพื้นฐานสารสนเทศหลักที่ทุกภาคส่วนสามารถใช้ในการ เข้าถึงความรู้ สร้างภูมิปัญญา และภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมสามารถใช้ในการสร้างมูลค่าเพิ่มแก่ภาคเศรษฐกิจของ ประเทศ
พัฒนาระบบบริหารจัดการเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารทีมมีธรรมาภิบาล โดยมีกลไก กฎระเบียบ โครงสร้างการบริหารและกำกับดูแล ที่เอื้อต่อการพัฒนาอย่างบูรณาการ มีความเป็นเอกภาพ มีประสิทธิภาพ และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในสังคม เพื่อสนับสนุนให้เกิดธรรมาภิบาลในระบบบริหารจัดการประเทศ สอดคล้องกับเป้าหมายที่กำหนดในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
พันธกิจคือภารกิจหลักที่ต้องทำ เป็นหัวข้อกว้าง ๆ เพื่อกำหนดกรอบเป็นหลักในการพัฒนา โดยสรุปแล้วแผนแม่บทฉบับนี้ก็จะมุ่งเน้นการพัฒนาสามด้านหลักได้แก่ คน โครงข่าย และการจัดการ
วัตถุประสงค์
เพื่อพัฒนากำลังคนด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT Professional) ให้มีปริมาณและคุณภาพตรงกับความต้องการของตลาด และบุคลากรในสาขาอาชีพต่าง ๆ ทุกระดับ รวมถึงประชาชนทั่วไป ให้มีความรู้ความสามารถในการสร้างสรรค์ พัฒนา และใช้ ICT อย่างมีประสิทธิภาพ มีวิจารณญาณและรู้เท่าทัน เพื่อเป็นรากฐานการพัฒนาประเทศไทยสู่สังคมและเศรษฐกิจฐานความรู้และนวัตกรรม อย่างยั่งยืนและมั่นคง
เพื่อสร้างธรรมาภิบาลในการบริหารจัดการเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร โดยใช้แนวปฏิบัติของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เน้นความมีเอกภาพ การบูรณาการ การใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า และการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้มีการจัดสรรผลประโยชน์จากการพัฒนาสู่ประชาชนในทุกภาคส่วนอย่าง เป็นธรรม โดยใช้กลไกความเป็นหุ้นส่วนระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน (Public-Private Partnership) อย่างเหมาะสม
เพื่อสนับสนุนการปรับโครงสร้างการผลิตสู่การเพิ่มคุณค่า (Value Creation) ของสินค้าและบริการบนฐานความรู้และนวัตกรรม โดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนและปัจเจกบุคคล โดยการเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากสารสนเทศ ในกิจการของครัวเรือนและชุมชน รวมถึงในการแสวงหาความรู้ สร้างภูมิปัญญาการมีส่วนร่วมในระบบการเมืองการปกครอง และในการดำรงชีวิตประจำวัน เพื่อนำไปสู่การพึ่งตนเองและลดปัญหาความยากจน โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ด้อยโอกาส ผู้พิการ และผู้สูงอายุ
เพื่อเสริมสร้างศักยภาพของธุรกิจและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับเทคโนโลยี สารสนเทศและการสื่อสาร โดยเน้นการเพิ่มมูลค่าเพิ่ม (Value-Added) ในประเทศ การวิจัยและพัฒนาและการใช้ประโยชน์จากภูมิปัญญาท้องถิ่น วัฒนธรรมไทย และเอกลักษณ์ของคนไทย เพื่อสนับสนุนการพัฒนาสู่สังคมและเศรษฐกิจฐานความรู้และนวัตกรรมอย่าง ยั่งยืน
โดยสรุปก็คือเน้นไปที่การพัฒนาความเข็งแกร่งทางด้าน ICT ให้กับ คน สังคม และธุรกิจ
เป้าหมาย
ประชาชนไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของประชากรทั้งประเทศ มีความรอบรู้ สามารถเข้าถึง สร้างสรรค์ และใช้สารสนเทศอย่างมีวิจารณญาณ รู้เท่าทัน มีคุณธรรมและจริยธรรม (Information Literacy) ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการเรียนรู้ การทำงาน และการดำเนินชีวิตประจำวัน
ยกระดับความพร้อมทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของประเทศ โดยให้อยู่ในกลุ่มประเทศที่มีระดับการพัฒนาสูงสุด 25% (Top Quartile) ของประเทศทีีมีการจัดลำดับทั้งหมดใน Networked Readiness Index
เพิ่มบทบาทและความสำคัญของอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารสใน ระบบเศรษฐกิจของประเทศ โดยมีสัดส่วนมูลค่าเพิ่มของอุตสาหกรรม ICT ต่อ GDP ไม่น้อยกว่าร้อยละ 15
เป้าหมายก็คือ สิ่งที่เป็นตัววัดว่าต้องทำเท่าใดจึงจะเรียกว่าประสบความสำเร็จ สรุปจากดัชนีทั้งสามก็คือ จำนวนผู้ใช้งานที่มีคุณภาพ อันดับในดัชนีชี้วัด และสัดส่วนในอุตสาหกรรม ICT ต่อ GDP ของประเทศ
สรุปแผนยุทธศาสตร์ทั้ง 6 ด้าน
จากผลการวิเคราะห์สถานภาพของ ICT ในส่วนแรก และนำมาสู่การตั้งวิสัยทัศน์ พันธกิจ วัตถุประสงค์ และเป้าหมาย ซึ่งเป็นกรอบกว้าง ๆ ของแนวทางที่จะทำ ซึ่งต้องนำมาแตกออกเป็นยุทธศาสตร์ย่อยอีกเพื่อให้สามารถนำไปสู่การปฏิบัติ ได้ แผนแม่บทฉบับนี้ได้กำหนดยุทธศาสตร์ทั้งหมด 6 ยุทธศาสตร์ ได้แก่
- การพัฒนากำลังคนด้าน ICT และบุคคลทั่วไปให้มีความสามารถในการสร้างสรรค์ ผลิต และใช้สารสนเทศอย่างมีวิจารณญาณและรู้เท่าทัน
- การบริหารจัดการระบบ ICT ระดับชาติอย่างมีธรรมาภิบาล
- การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
- การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่อสนับสนุนการสร้างธรรมาภิบาลในการบริหารและการบริการของภาครัฐ
- ยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรม ICT เพื่อสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจและรายได้เข้าประเทศ
- การใช้ ICT เพื่อสนับสนุนการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันอย่างยั่งยืน
โดยแต่ละยุทธศาสตร์มีรายละเอียดโดยสรุปดังต่อไปนี้
ยุทธศาสตร์ที่ 1 การพัฒนากำลังคนด้าน ICT และบุคคลทั่วไปให้มีความสามารถในการสร้างสรรค์ ผลิต และใช้สารสนเทศอย่างมีวิจารณญาณและรู้เท่าทัน
ยุทธศาสตร์แรกเป็นเรื่องของการพัฒนาคน โดยแบ่งเป็นสองส่วนหลักได้แก่
- การพัฒนาบุคลากรทางด้าน ICT อันได้แก่ การพัฒนาบุคลากรด้าน ICT ที่อยู่ในภาคการศีกษาทั้งในระดับอุดมศึกษาและอาชีวศึกษา โดยเน้นไปที่การพัฒนาอาจารย์ การปรับปรุงการเรียนการสอน และส่งเสริมให้ทำงานใกล้ชิดกับผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมมากขึ้น อีกทั้งยังส่งเสริมให้นำโอเพ่นซอร์สมาใช้ในการเรียนการสอนให้มากขึ้นด้วย นอกจากจะพัฒนาบุคลากรในภาคการศึกษาแล้ว ยังต้องพัฒนาบุคลากรในภาคอุตสาหกรรมด้วย โดยเน้นพัฒนาให้ได้คุณภาพมาตรฐานในระดับสากล
- การพัฒนาประชาชนทั่วไป ในส่วนนี้ได้แบ่งมาตรการเป็น 5 ข้อย่อย อันได้แก่
- การนำ ICT มาใช้ในการเรียนการสอนในทุกระดับชั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการศึกษาขั้นพื้นฐาน ยกตัวอย่างเช่น การพัฒนาสื่อการเรียนการสอนอิเล็กทรอนิกส์ และการสร้างสังคมเรียนรู้ออนไลน์ของนักเรียน
- สนับสนุนแหล่งเรียนรู้ทาง ICT ในชุมชนทั้วไป เพื่อให้ประชาชนได้ใช้ ICT ให้เกิดประโยชน์ในชีวิตประจำวัน
- ส่งเสริมทักษะทาง ICT ให้แก่แรงงานในสถานประกอบการต่าง ๆ ให้สามารถใช้ ICT ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- ส่งเสริมการพัฒนาความรู้ทาง ICT แก่สังคมผู้ด้อยโอกาส ผู้พิการ และผู้สูงอายุ
- ผลักดันให้เกิดการพัฒนาความรู้และทักษะทางด้าน ICT แก่บุคลากรภาครัฐ
ข้อนี้ชัดเจนมาก และคงไม่ต้องขยายความอะไรครับ
ยุทธศาสตร์ที่ 2 การบริหารจัดการระบบ ICT ระดับชาติอย่างมีธรรมาภิบาล
ยุทธศาสตร์ที่ 2 นี้เน้นที่กลไกการบริหารจัดการ ICT ของรัฐ อันได้แก่
- การปรับปรุงโครงสร้างของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับ ICT ให้มีความเป็นเอกภาพและทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ
- ปรับปรุงกลไกการจัดการงบประมาณที่เกี่ยวข้องกับ ICT ให้คุ้มค่าและลดความซ้ำซ้อน
- พัฒนากฎระเบียบและการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับ ICT โดยเน้นที่การทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ นอกจากนี้ยังรวมถึงการปรับปรุงจัดซื้อจัดจ้างที่เกี่ยวข้องกับ ICT ให้เน้นที่ความคุ้มค่าของงานมากกว่าราคาเพียงอย่างเดียว
ขอขยายความนิดนึงครับ กล่าวคือ หน่วยงานเฉพาะทางที่เกี่ยวข้องกับ ICT ของรัฐนั้นมีอยู่หลายหน่วยงาน อาทิเช่น กระทรวง ICT หรือ เนคเทค ซึ่งอยู่ภายใต้ สวทช. ซึ่งอยู่ภายใต้กระทรวงวิทยาศาตร์และเทคโนโลยี เป็นต้น โดยแต่ละหน่วยงานนี้ ในปัจจุบันคงจะมีภาระหน้าที่ ความรับผิดชอบ ทิศทาง และการพัฒนาต่าง ๆ ที่ยังไม่มีเอกภาพเท่าที่ควร ยุทธศาสตร์นี้จึงมุ่งปรับปรุงตรงจุดนี้เพื่อให้หน่วยงานเหล่านี้มีบทบาทที่ ชัดเจน มีเอกภาพมากขึ้น และมีผลงานและการจัดสรรงบประมาณแบบบูรณาการมากขึ้นครับ
ยุทธศาสตร์ที่ 3 การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
ยุทธศาสตร์นี้มุ่งเน้นให้เกิดการพัฒนาโครงสร้างทาง ICT ของประเทศในด้านต่าง ๆ อันได้แก่
- การประสานงานระหว่างหน่วยงานของรัฐในเรื่อง ICT
- การขยายโครงข่ายโทรคมนาคมให้ครอบคลุมทั่วถึงมากขึ้น
- สนับสนุนการเข้าถึง ICT เพื่อการศึกษา ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียน ห้องสมุด และชุมชน เพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต
- สนับสนุนการใช้งาน ICT ทีเกี่ยวข้องกับสุขภาพและความปลอดภัยของประชาชน เช่น การสาธารณสุขพื้นฐาน และการเตือนภัย เป็นต้น
- เพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการโครงข่าย อันได้แก่ การจัดสรรคลื่นความถี่ การจัดทำฐานข้อมูลของโครงข่ายในประเทศ และมีนโยบายคุ้มครองผู้บริโภคที่ได้มาตรฐานสากล
- เสริมสร้างความมั่นคงและความปลอดภัยของโครงข่าย ICT พื้นฐานและของหน่วยงานของรัฐ
ยุทธศาสตร์นี้ระบุทิศทางของการพัฒนาโครงข่ายครับ ว่านอกจากจะให้ทั่วถึงแล้ว ยังระบุชัดเจนเลยว่าเน้นไปที่การศึกษา สุขภาพและความปลอดภัยของประชาชน เป็นสำคัญ ดังนั้นหากหน่วยงานรัฐหรือเอกชนต้องการจัดทำโครงการและของบประมาณสนับสนุนใน การสร้างหรือขยายโครงข่ายอินเทอร์เน็ต ถ้าการใช้งานของโครงข่ายเน้นไปในสามด้านนี้ ท่านก็จะอ้างได้ว่าได้ทำตามแผนยุทธศาสตร์ ICT ของประเทศ ก็อาจจะเพิ่มโอกาสการได้งบประมาณนะครับ :-)
ยุทธศาสตร์ที่ 4 การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่อสนับสนุนการสร้างธรรมาภิบาลในการบริหารและการบริการของภาครัฐ
ยุทธศาสตร์ที่ 4 นี้เน้นไปที่การเพิ่มศักยภาพทางด้าน ICT ของบริการของหน่วยงานภาครัฐทุกหน่วยงาน โดยมีมาตรการสำคัญได้แก่
- เพิ่มศักยภาพของหน่วยงานกลางที่ดูแล ICT ของภาครัฐทุกหน่วยงาน
- ให้ทุกกระทรวงพัฒนาบริการอิเล็กทรอนิกส์ของตนเองแบบบูรณาการ นั่นคือต้องสามารถทำงานเข้ากับระบบบริการของกระทรวงอื่นอย่างเป็นเอกภาพด้วย
- เพิ่มศักยภาพการดำเนินงานด้าน ICT ของหน่วยงานภาครัฐในระดับจังหวัดและการปกครองส่วนท้องถิ่น
ผมขอยกตัวอย่างให้เห็นภาพง่าย ๆ คือ หน่วยงานภาครัฐทั้งหลายต่างก็มีหน่วยงานย่อยของตนเองอยู่ทั่วประเทศ เช่นกระทรวงสาธารณสุขก็มีสถานีอนามัยประจำจังหวัด อำเภอ และตำบลอยู่มากมาย กรมตำรวจก็มีโรงพักอยู่ทั่วประเทศ หน่วยงานเหล่านี้มีความต้องการใช้ ICT เพื่อติดต่อสื่อสารกัน แต่หน่วยงานเหล่านี้อาจไม่เชี่ยวชาญในระบบ ICT และสร้างระบบ ICT ของตนเองไปคนละทิศละทาง ดังนั้นจึงควรมีหน่วยงานกลางที่ดูแลเกี่ยวกับ ICT เช่น ออกแบบสถาปัตยกรรม กำหนดมาตรฐานการักษาความปลอดภัย กำหนดรูปเทคนิคในการเก็บข้อมูล เป็นต้น ให้กับหน่วยงานภาครัฐทุกหน่วยงาน ซึ่งก็น่าจะทำให้ผลที่ได้คือได้มาตรฐานและเป็นเอกภาพมากขึ้นดังในหัวข้อย่อย ที่ 2 และ 3 นั่นเอง ตัวอย่างของหน่วยงานในลักษณะนี้ก็มีอยู่แล้วคือ สบทร. แต่ปัจจุบันก็ไม่แน่ใจว่ามีหน่วยงานในลักษณะนี้เพิ่มขึ้นมาอีกหรือเปล่า
ยุทธศาสตร์ที่ 5 ยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรม ICT เพื่อสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจและรายได้เข้าประเทศ
ยุทธศาสตร์นี้มุ่งเน้นการเพิ่มขีดความสามารถและความแข้มแข็งของอุตสาหกรรม ICT ของประเทศ โดยมีมาตรการที่สำคัญดังต่อไปนี้
- ส่งเสริมและสนับสนุนเงินทุนให้กับผู้ประกอบการ ICT รายใหม่
- ยกระดับมาตรฐานและบริการ ICT ให้เทียบเท่าระดับสากล ต่อยอดการพัฒนาเดิม และส่งเสริมการผลิตเทคโนโลยีต้นน้ำ
- ส่งเสริมการรวมตัวและเพิ่มความแข็งแกร่งให้กับผู้ประกอบการ ทั้งนี้เพื่อเพิ่มโอกาสทางการตลาดให้กับผู้ประกอบการ ICT
- ส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรม ICT ทั้งภายในประเทศและจากต่างประเทศ
- ส่งเสริมการผลิตและบริการซอฟต์แวร์โอเพนซอร์สในประเทศไทย
ยุทธศาสตร์นี้ก็ค่อนข้างชัดเจนครับ ซอฟต์แวร์โอเพนซอร์สก็ยังคงอยู่ในแผนของประเทศไทยอีกวาระหนึ่ง :-)
ยุทธศาสตร์ที่ 6 การใช้ ICT เพื่อสนับสนุนการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันอย่างยั่งยืน
ยุทธศาสตร์นี้่ส่งเสริมภาคการผลิตต่าง ๆ ให้สามารถนำ ICT มาใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างสูงสุด เพื่อเป็นช่องทางหนึ่งในการเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน มาตรการต่าง ๆ ของยุทธศาสตร์นี้ได้แก่
- สร้างความตระหนักและเพิ่มขีดความสามารถด้าน ICT ให้กับผู้ประกอบการ
- เสริมสร้างกลไกและความเชื่อมันในการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์
- ส่งเสริมการนำ ICT มาใช้ให้เกิดประโยชน์ภาคการผลิตที่สำคัญของประเทศ เช่น การเกษตร การสาธารณสุข และการท่องเที่ยว เป็นต้น
- ส่งเสริมให้ SME เข้าถึงและนำ ICT มาใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างสูงสุด และหาช่องทางทำธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ให้กับสินค้าชุมชน (OTOP)
- ส่งเสริมการนำ ICT มาใช้ในประหยัดพลังงานเพื่อลดค่าใช้จ่ายขององค์กรต่าง ๆ
ยุทธศาสตร์นี้เน้นชัดเจนครับเกี่ยวกับการนำ ICT มาใช้ให้เกิดประโยชน์กับภาคส่วนต่าง ๆ อย่างเต็มที่ และผลักดันให้ ICT เป็นเบื้องหลังที่สนับสนุนให้สิ่งที่กิจการที่ทำอยู่แล้วแข็งแกร่งมากยิ่ง ขึ้น
ฝากก่อนจบ
บทความนี้เป็นสรุปสาระสำคัญทั้งหมดของแผนแม่บทที่ผมพยายามจะเรียบเรียง ให้กระชับ อ่านง่าย และเข้าใจครับ เพื่อให้ทุกคนเห็นเป้าหมายของ ICT ของประเทศร่วมกัน ไม่ว่าท่านจะอยู่ในภาคส่วนใดของสังคมทั้งภาครัฐ เอกชน หรือประชาชนทั่วไป ทุกท่านล้วนมีส่วนร่วมในการพัฒนา ICT ของประเทศไทยทั้งสิ้น ส่วนตัวแล้วผมเห็นด้วยมากที่สุดตรงที่ว่า อยากให้คนไทยใช้ ICT ให้เกิดประโยชน์อย่างเต็มที่ครับ ถ้าเราตระหนักตรงนี้ ช่วยกันบอกต่อ ปลูกฝัง และสร้างตัวอย่างให้เห็นมากขึ้น สังคมโดยรวมก็จะเริ่มปรับตัวและพัฒนาตามครับ
ที่มา blognone.com , ดาวน์โหลดแผนแม่บท ICT แห่งชาติฉบับที่ 2