วิทยานิพนธ์ - การประยุกต์ใช้แนวคิดคราวด์ซอร์สซิงในการทำแผนที่เครือข่ายเฝ้าระวังและช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ จังหวัดสงขลา
การประยุกต์ใช้แนวคิดคราวด์ซอร์สซิงในการทำแผนที่เครือข่ายเฝ้าระวังและช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ จังหวัดสงขลา
Applying Crowdsourcing Approach for the Development of Monitoring and Mitigation Network Map in Songkhla Province
ภาณุมาศ นนทพันธ์
Panumas Nontapan
วิทยานิพนธ์นี้เป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาตามหลักสูตรปริญญา
วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการระบบสุขภาพ
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
A Thesis Submitted in Partial Fulfillment of the Requirements for the Degree of
Master of Science in Health Systems Management
Prince of Songkla University
2556
ลิขสิทธิ์ของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
บทคัดย่อ
ชื่อวิทยานิพนธ์ การประยุกต์ใช้แนวคิดคราวด์ซอร์สซิงในการทำแผนที่เครือข่ายเฝ้าระวังและช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ จังหวัดสงขลา
ผู้เขียน นายภาณุมาศ นนทพันธ์
สาขาวิชา การจัดการระบบสุขภาพ
ปีการศึกษา 2556
บทคัดย่อ
การวิจัยเชิงปฏิบัติการครั้งนี้เป็นการศึกษากระบวนคราวด์ซอร์สซิงเพื่อนำแนวคิดมาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาเครื่องมือและกระบวนการสร้างข้อมูลแผนที่เครือข่ายเฝ้าระวังและช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ จังหวัดสงขลา ภายใต้กรอบแนวคิดของการถ่ายโอนงานออกไปสู่มวลชนที่เป็นเครือข่ายของกลุ่มคนขนาดใหญ่ที่มีศักยภาพ มีความสนใจในเรื่องเดียวกัน และมีความตระหนักในการแก้ไขปัญหาร่วมกัน ดำเนินการด้วยรูปแบบที่เปิดกว้างและไม่ระบุตัวตน โดยการเสียสละเวลามาร่วมกันปฏิบัติการผ่านช่องทางการสื่อสารแลกเปลี่ยนข้อมูลด้วยเครือข่ายอินเทอร์เน็ตในการรวบรวมความรู้ติดตัวอันเนื่องจากสถานที่เกิดและประสบการณ์เฉพาะของแต่ละคนที่กระจัดกระจายให้มาเป็นผลงานอ้างอิงรวมชิ้นเดียวผ่านเครื่องมือและกระบวนการจัดวางแนวทางแรงจูงใจของมวลชนที่เหมาะสม
ผลการศึกษาจากการดำเนินการ 9 ขั้นตอน พบว่า การออกแบบเครื่องมือจะต้องลดความซับซ้อนและลำดับขั้นในการทำงานให้เหลือน้อยที่สุดด้วยการแยกงานออกเป็นหน่วยย่อยที่เล็กที่สุดคือการปักหมุดและป้อนรายละเอียดที่จำเป็นเท่านั้น กระบวนการในการสร้างข้อมูลจากการประยุกต์แนวคิดคราวด์ซอร์สซิงโดยการจัดวางแนวทางแรงจูงใจของมวลชนพบว่าการเลือกกลุ่มมวลชน การเชิญชวนมวลชนเข้าร่วมดำเนินการโดยการกระจายปัญหาและสร้างแรงจูงใจต้องทำหลากหลายวิธีและช่องทางด้วยรูปแบบที่เหมาะสม ให้มากครั้ง ต่อเนื่องและบ่อยที่สุด สร้างแรงจูงใจภายใน เช่นความภาคภูมิใจ การมีจิตอาสา และแรงจูงใจภายนอก เช่น การนำผลที่ได้ไปใช้ประโยชน์ในการวางแผนรับมือก่อนเกิดเหตุ การแก้ปัญหาและช่วยเหลือในระหว่างเกิดเหตุ และวางแผนการฟื้นฟูหลังเกิดเหตุภัยพิบัติ การให้คุณค่ากับแนวความคิดของนวตกรรมของมวลชนและการรักษามวลชนให้อยู่ร่วมในระยะยาวโดยการนำข้อเสนอแนะของมวลชนมาใช้ในการปรับกลยุทธ์การดำเนินการ รวมถึงการเพิ่มศักยภาพของมวลชนในการใช้งานเครื่องมือด้วยวิธีการให้ความรู้เพิ่มเติม การช่วยเหลือดำเนินการในสิ่งที่มวลชนไม่ถนัด หรือกระทั่งให้การสนับสนุนเครื่องมือในการทำงานเพิ่มเติม
ข้อค้นพบจากการศึกษาที่จะทำให้ดำเนินโครงการคราวด์ซอร์สซิงได้สำเร็จคือ คณะทำงานโครงการต้องให้ความสำคัญและสามารถสร้างความสัมพันธ์กับมวลชนเพื่อสร้างแรงจูงใจที่เหมาะสมที่จะทำให้มวลชนผู้มีจิตอาสาเข้ามาร่วมในการสร้างสรรค์ผลงานผ่านเครื่องมือสำหรับดำเนินการเก็บข้อมูลที่ใช้งานได้อย่างสะดวกด้วยช่องทางการสื่อสารผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตที่เข้าถึงได้อย่างกว้างขวาง ดำเนินการปักหมุดได้อย่างรวดเร็วใช้เวลาน้อย และใช้งานง่ายไม่ซับซ้อนโดยลดขั้นตอนการทำงานให้เหลือน้อยที่สุด รวมถึงการเพิ่มศักยภาพของมวลชนในการใช้งานเครื่องมือด้วยการให้ความรู้หรือแม้กระทั่งให้ความช่วยเหลือในการทำ และดำเนินการโครงการในช่วงเวลาที่เหมาะสมเช่นช่วงเฝ้าระวังน้ำท่วมที่มวลชนเริ่มทำกิจกรรมต่างๆ นอกจากนี้ยังพบว่าพื้นที่สำหรับดำเนินการต้องมีแผนที่ดาวเทียมความละเอียดสูงที่สามารถเห็นรายละเอียดของสถานที่หรือบ้านในชุมชนได้อย่างชัดเจนคราวด์ซอร์สซิงเป็นแนวทางหนึ่งที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลจำนวนมากด้วยต้นทุนค่าใช้จ่ายที่ต่ำ อาศัยศักยภาพของมวลชนที่มีความรู้ในเรื่องนั้น ๆ อยู่แล้ว โดยไม่จำเป็นต้องสร้างความรู้ขึ้นมาใหม่ ดำเนินการผ่านเครื่องมือสำหรับเก็บข้อมูลที่ใช้งานได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และง่ายดาย ประกอบกับการจัดวางแนวทางในการสร้างแรงจูงใจที่เหมาะสมเพื่อให้มวลชนเข้ามาร่วมดำเนินการ โดยให้ความสำคัญกับแนวคิดและความต้องการของมวลชนเป็นแนวทางหลักในการปรับกลยุทธ์ของการดำเนินการแต่ละขั้นตอนตลอดการทำโครงการ และยังเป็นกระบวนการที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการทำข้อมูลได้หลากหลายรูปแบบโดยการปรับเปลี่ยนเครื่องมือ กระบวนการและแนวทางในการจัดวางแรงจูงใจของมวลชนให้เหมาะสมกับรูปแบบของโครงการ
คำสำคัญ คราวด์ซอร์สซิ่ง, การถ่ายโอนงานให้มวลชน, แผนที่เครือข่าย, สงขลา
Thesis Title Applying Crowd Sourcing Approach for the Development of Monitoring and Mitigation Network Map in Songkhla Province
Author Panumas Nontapan
Major Program Health Systems Management
Academic Year 2013
Abstract
This action research aimed to study crowdsoucing process in order to apply the concept to the development of tools and the process of mitigation network mapping and to help victims of disasters in Songkhla province. It was conducted under the concept of transferring works to the mass who were big groups of potential people sharing common interests and realizing mutual problem-solving. It was done in wide and open forms and participants were not identified. They had devoted their time to participate in via internet information-exchanging communication to collect inherent knowledge of each individual. As the scene of incidents and their unique experiences were scattered, they were accumulated and made into one reference via tools and the mass’s suitably placed-motivation process.
The finding from nine-step study was that to design tools, the complexities and steps of work must be minimized to the least. Dividing works into smallest subunits was to peg and merely feed necessary details. The process in creating data from applying the concept of crowdsoucing by placing the mass’s motivation process was found that selecting group of mass and inviting them to participate in by dispersing problems and motivating must be done in various ways and channels with suitable forms, as often as possible and consistently. Build inner motivation such as pride and public consciousness and build external motivation such as applying the result to the planning to cope with the problem before it happened. Solve problems and give help during the incidents and plan restoration after the disaster. Give value and innovative idea of the public and keep them participate in a long term by applying their suggestion to operations strategies, as well as increase their potential in using tools by adding more knowledge. Help them with their weakness or support more tools when doing additional works.
The finding from the study which enabled crowdsoucing to accomplish was that the work committee must be focused and able to make relationship with the mass to create suitable motivation. It must encourage them to have public consciousness to work through tools to collect data more conveniently via internet and must be widely accessible. Be able to peg quickly with shorter time and the work must not be complicated, has fewer steps, as well as able to increase potential of the mass in using tools by educating them or even helping them. Carry out the project in the right time such as during the time of watching out for the flood when the public started to commence on activities. Besides, it was found that the essential supporting factors were having satellite with frequency high enough to clearly see the details of places in the community.
Crowdsoucing was one of the ways which could be applied to collect a huge number of data with low cost. It relied on the potential of the mass that already had specific knowledge and was not necessary to build a new knowledge. It was conducted via collecting tools which were easy, fast and convenient to use. Furthermore, organizing suitable motivation for the mass to participate in by paying attention to their ideas and needs was the main method to apply the strategies to carry on the works in each step throughout the project. There were also processes to be able to apply to use in the data in various forms by adjusting tools, procedures and the ways to motivate the mass to suit to the form of project. Keywords: Crowdsourcing, transferring work to the mass, Network Mapping, Songkhla
กิตติกรรมประกาศ
ผู้วิจัยขอขอบพระคุณบุคลากรหลายๆ ฝ่ายที่ให้ความอนุเคราะห์ และสนับสนุนอย่างต่อเนื่องจนทำให้วิทยานิพนธ์เรื่องนี้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี บุคลากรที่เกี่ยวข้องมีดังนี้
คณะทำงานโครงการเครือข่ายเมืองในเอเซียเพื่อรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเมืองหาดใหญ่ (ACCCRN) ทุกท่านที่ช่วยให้คำแนะนำการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง และหนุนช่วยกิจกรรมจนการวิจัยลุล่วงไปด้วยดี
นพ.อมร รอดคล้าย อาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์หลัก ที่ให้แนวคิด คำแนะนำ กำลังใจ และตรวจสอบวิทยานิพนธ์จนเสร็จสมบูรณ์ รวมถึงขอขอบคุณทีมงานจากสถาบันการจัดการระบบสุขภาพ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (สจรส.ม.อ.) ที่ได้อำนวยความสะดวก และช่วยเหลือให้วิทยานิพนธ์สำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี มูลนิธิชุมชนสงขลา เจ้าหน้าที่โครงการ ที่สนับสนุนการดำเนินงานของผู้วิจัย โดยเฉพาะชาคริต โภชะเรือง ผู้จัดการมูลนิธิชุมชนสงขลา เป็นผู้ติดต่อประสานงาน และร่วมจัดกระบวนการในชุมชน
คณะทำงานและมวลชนในชุมชนตำบลคลองหลา ตำบลทุ่งลาน ตำบลโคกม่วง ตำบลคลองหอยโข่ง ตำบลคูเต่า และเทศบาลนครหาดใหญ่ ที่เป็นผู้เข้าร่วมในกระบวนการทำวิจัย ช่วยกันเสนอแนวคิดและข้อเสนอแนะต่าง ๆ ร่วมกันจัดทำแผนที่ จนกระทั่งงานวิจัยชิ้นนี้เสร็จสิ้นลง
งานวิจัยนี้ได้รับการสนับสนุนทุนอุดหนุนจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ประจำปีการศึกษา 2555
ท้ายสุดนี้ผู้วิจัยขอขอบพระคุณ บิดา มารดา ผู้อบรมเลี้ยงดู ภรรยา พี่ เพื่อน และผู้ที่เกี่ยวข้องทุกท่านที่มีส่วนสนับสนุน เป็นกำลังใจ และช่วยเหลือผู้วิจัยในทุก ๆ ด้านมาโดยตลอด
ภาณุมาศ นนทพันธ์