ก๊วนซอฟท์แวร์ </softganz> SoftGang (Gang Software)

Web &amp; Software Developer Gang.

“ความคิดดี ๆ” มาจากไหน

by Little Bear @19 พ.ค. 55 11:22 ( IP : 122...78 ) | Tags : Crowdsourcing

เรื่องราวเบาๆ ที่ถูกเรียกว่าเป็น “กรณีศึกษาอันยอดเยี่ยม” โดย Steven Johnson ผู้เขียนหนังสือเรื่อง Where good ideas come from? ที่ได้รับการคัดเลือกเป็นหนังสือที่ดีเยี่ยมที่สุดเล่มหนึ่งของโลก นี่คือเรื่องราวความเป็นมาที่น่าทึ่งของนวัตกรรมอันหนึ่ง และมันก็เกิดขึ้นได้ในทางที่เหลือเชื่อเสียด้วย

บทความแรกของปี 2012 [เสด-ถะ-สาด].com ขอนำเสนอเรื่องราวเบาๆ ที่ถูกเรียกว่าเป็น “กรณีศึกษาอันยอดเยี่ยม” โดย Steven Johnson ผู้เขียนหนังสือเรื่อง Where good ideas come from? ที่ได้รับการคัดเลือกเป็นหนังสือที่ดีเยี่ยมที่สุดเล่มหนึ่งของโลกในปี 2010 โดยนิตยสาร The Economist

เรื่องราวเริ่มต้นขึ้นเมื่อเดือนตุลาคม ปี 1957 โซเวียตเพิ่งยิงดาวเทียมขึ้นไปในอวกาศชื่อว่า “สปุตนิก 1″ (Sputnik I) ตอนนั้นเป็นวันจันทร์เช้า ทำให้ข่าวถูกกระพือได้ง่ายกว่าวันอื่นๆ ถึงดาวเทียมดวงแรกนี้ที่ขึ้นไปโคจรรอบโลก

แน่นอน นี่เป็นสวรรค์สำหรับพวกเนิร์ดที่คลั่งฟิสิกส์หลายคน ซึ่งกำลังคิดว่า “ให้ตายเถอะ! เรื่องนี้เจ๋งจริงๆ ไม่น่าเชื่อเลยว่ามันจะเกิดได้”

สองคนในพวกเด็กบ้าฟิสิกส์เหล่านั้นชื่อ Guier กับ Weiffenbach ที่อายุประมาณ 20 ทำงานวิจัยอยู่ในห้องแล็บฟิสิกส์ประยุกต์ มหาวิทยาลัย John Hopkins รัฐ Maryland กำลังนั่งคุยกันสบายๆ กันอยู่ที่โรงอาหารกับเพื่อนร่วมงานกลุ่มหนึ่ง

ขณะที่คุยกัน คนหนึ่งก็พูดขึ้นมาว่า “เฮ้ย มีใครลองฟังเสียงเจ้าดาวเทียมนี่หรือยัง? ตอนนี้เรามีดาวเทียมที่มนุษย์ผลิตลอยอยู่ในอวกาศ มันต้องกำลังกระจายสัญญาณอะไรสักอย่างอยู่แน่ๆ เราคงฟังสัญญาณนี้ได้ถ้าเราจูนไปหามัน” พวกเขาถามเพื่อนร่วมงานรอบวง และทุกคนก็บอกว่า “อืม ยังไม่เคยนึกอยากทำอย่างนั้นเลย แต่มันเป็นความคิดที่น่าสนใจนะ”

พวกเขาสองคนได้เริ่มใช้เสาอากาศขนาดเล็กต่อกับเครื่องขยายเสียงในห้องทำงาน ปรับแต่งอุปกรณ์จับสัญญาณ [แบบที่ปัจจุบันเราเรียกว่าการ "แฮ็ค" นั่นแหละครับ] หลังจากผ่านไป 2-3 ชั่วโมง พวกเขาก็เริ่มรับสัญญาณได้จริงๆ เพราะโซเวียตสร้างสปุตนิก ให้ตามร่องรอยได้ง่ายมาก มันส่งสัญญาณที่ 20 MHz [เพราะโซเวียตกลัวว่าคนอื่นจะคิดว่าดาวเทียมดวงนี้เป็นเรื่องโกหก ก็เลยทำให้มันเป็นดาวเทียมที่หาเจอได้ง่ายมาก]

ขณะที่เด็กเนิร์ดสองคนนั่งฟังสัญญาณอยู่ในห้อง คนอื่นเริ่มทยอยเข้ามาในห้องแล้วพูดว่า “โห สุดยอดไปเลย ขอฟังด้วยได้ไหม?” … “เฮ้ย นี่มันเจ๋งจริง” ไม่นานพวกเขาก็คิดว่า “อืม นี่เป็นเหตุการณ์ประวัติศาสตร์นะ เราอาจเป็นคนกลุ่มแรกในอเมริกาที่กำลังฟังดาวเทียมดวงนี้ เราน่าจะอัดมันไว้” พวกเขาก็เลยขนเอาเครื่องอัดเทปแบบอนาล็อก (Analog) ขนาดใหญ่เทอะทะ เข้ามาในห้อง เริ่มอัดเสียงบี๊บ บี๊บ บันทึกข้อมูลวันที่และเวลาอย่างละเอียด

สำหรับแต่ละบี๊บที่บันทึกไว้ ต่อมา พวกเขาก็เริ่มคิดว่า “เฮ้ย เราสังเกตว่ามีค่าความแปรผันเล็กน้อยของความถี่ เราน่าจะสามารถคำนวณความเร็ว ที่ดาวเทียมดวงนี้กำลังโคจรได้ ถ้าเราใช้สมการทางคณิตศาสตร์ จากผลกระทบดอพเพลอร์ (Doppler Effect)”

แล้วพวกเขาก็เล่นกับมันต่อ โดยไปหารือกับเพื่อนร่วมงานคนอื่น ที่มีความเชี่ยวชาญด้านอื่น เสร็จแล้วพวกเขาก็บอกว่า “เฮ้ย ที่จริงนะ เราคิดว่าเราสามารถมองดูค่าความชันของผลกระทบดอพเพลอร์ เพื่อหาจุดที่ ดาวเทียมเข้ามาใกล้กับเสาอากาศของเราที่สุด และจุดที่มันอยู่ห่างที่สุด ซึ่งมันก็จะเจ๋งขึ้นไปอีก”

สุดท้าย พวกเขาก็ได้ขออนุญาตทำโครงการเล็กๆ ที่ไม่ได้อยู่ในขอบข่ายงานประจำ โดยได้รับอนุญาตให้ใช้เครื่องคอมพิวเตอร์รุ่นยูนิแวค [คอมพิวเตอร์ที่ใหญ่มากขนาดกินพื้นที่ห้องทั้งห้อง] ที่ห้องวิจัยของพวกเขาเพิ่งได้เครื่องนี้มาไม่นาน พวกเขาใช้เครื่องนี้คำนวณ และต่อมาอีกประมาณ 3-4 สัปดาห์ ก็ปรากฏว่าพวกเขาสามารถคำนวณวงโคจรรอบโลกของดาวเทียมดวงนี้ได้เป๊ะๆ แค่จากการฟังสัญญาณเล็กๆ นี้สัญญาณเดียว ด้วยการทำตามความตะหงิดใจของตัวเองที่มีแรงบันดาลใจจะทำ ระหว่างทานอาหารกลางวันวันหนึ่ง

อีกประมาณ 2 สัปดาห์ต่อมา แฟรงค์ แม็คคลัวร์ หัวหน้าของพวกเขา ดึงคนคู่นี้เข้าไปในห้องแล้วบอกว่า “นี่นาย ผมถามอะไรหน่อยสิ เกี่ยวกับโครงการที่คุณสองคนทำ คุณคำนวณพิกัดเป๊ะๆ ที่ไม่มีใครรู้ ของดาวเทียมที่โคจรรอบโลก จากพิกัดภาคพื้นดินที่คุณรู้อยู่แล้ว ถ้าคุณจะทำอีกทางได้หรือเปล่า? คุณสามารถคำนวณหาพิกัดบนภาคพื้นที่ไม่มีใครรู้ได้ไหม ถ้าคุณรู้ตำแหน่งของดาวเทียม?”

พวกเขาคิดอยู่ครู่หนึ่ง แล้วก็บอกว่า “อืม น่าจะทำได้นะ เดี๋ยวจะลองดู” เสร็จแล้วพวกเขาก็กลับไป ใช้เวลาคิดเพิ่ม แล้วกลับมาบอกว่า “ที่จริงทำอย่างนั้นง่ายกว่าอีก”

แม็คคลัวร์ตอบว่า “โอ้ สุดยอดเลย เพราะตอนนี้มีเรือดำน้ำพลังนิวเคลียร์ ที่ผมกำลังออกแบบ และยากมากเลยที่จะคำนวณว่าจะยิงขีปนาวุธยังไง ให้ไปตกใน Moscow เป๊ะ เพราะปัญหาก็คือเราไม่รู้พิกัดเรือดำนำในกลางมหาสมุทรแปซิฟิก เลยคำนวณพิกัดเป้าหมายไม่ได้ เราก็เลยอยากยิงดาวเทียมขึ้นไปชุดหนึ่งเพื่อใช้ติดตามพิกัดของเรือดำน้ำ และคำนวณหาตำแหน่งของมันกลางทะเล พวกคุณไปช่วยทำโจทย์นี้ได้ไหมครับ?”

เรื่องราวนี้เหมือนเป็นตลกร้าย แต่มันคือจุดกำเนิดของ GPS อุปกรณ์ติดตามตัวบอกตำแหน่งของเราใน 30 ปีต่อมา

โรนัลด์ เรแกน เปิดเผยเทคโนโลยีนี้ออกมา ทำให้มันเป็นแพล็ตฟอร์มเปิด ที่ใครก็ตามสามารถต่อยอด ใครๆ ก็สามารถสร้างเทคโนโลยีใหม่ ที่จะสร้างสรรค์และมีนวัตกรรม บนแพล็ตฟอร์มเปิดตัวนี้ ปล่อยทิ้งไว้ให้ใครก็ได้ มาทำอะไรก็ได้กับมัน

และตอนนี้ อย่างน้อยครึ่งหนึ่งของเพื่อนๆ ที่กำลังอ่านอยู่ ก็คงมีอุปกรณ์ GPS ที่อาจจะแทรกตัวอยู่ในโทรศัพท์มือถือติดอยู่กับตัวเป็นแน่

Johnson กล่าวว่า “นี่เป็นกรณีศึกษาที่สุดยอดมาก เป็นบทเรียนที่ยอดเยี่ยม เกี่ยวกับพลังแบบที่มหัศจรรย์ ไร้การวางแผน พลังที่อุบัติเองและพยากรณ์ไม่ได้ ของระบบนวัตกรรมเปิด เมื่อคุณสร้างมันอย่างถูกต้อง มันก็จะพาเราไปในทิศทางใหม่ๆ ที่ผู้สร้างมันไม่เคยแม้แต่ฝันถึง คือผมหมายความว่า เรื่องนี้เรามีนักฟิสิกส์ ที่คิดว่าพวกเขาแค่ทำตามความตะหงิดใจของตัวเอง เรื่องเล็กๆ ที่พวกเขาอินกับมัน เสร็จแล้วพวกเขาก็คิดว่ากำลังต่อสู้ในสงครามเย็น แต่กลายเป็นว่าพวกเขาแค่กำลังช่วยใครบางคน หาทางไปร้านอาหารกิน”

แล้วเรื่องนี้สอนอะไรเรา?

Johnson อธิบายว่า ปัจจัยสำคัญอย่างน้อยสองประการที่จะทำให้ความคิดดีดีเกิดขึ้นได้ก็คือ

  1. ต้องมีแรงจูงใจที่เกิดขึ้นจากภายใน มีแรงปรารถนา มีความตะหงิดใจของตัวเอง มันจะทำให้ตัวเราเองอยากรู้ ใส่ใจ และค้นหาคำตอบอย่างไม่เหน็ดเหนื่อย

  2. ต้องพูดคุย สนทนา ไม่ใช่แค่กับคนที่อยู่ในสาขาเดียวกันเท่านั้น แต่ต้องพูดคุยกับคนในสาขาอื่นๆ ด้วย เพราะความไม่รู้ของพวกเขาเหล่านั้นจะช่วยให้คุณก้าวข้ามข้อจำกัดที่ตีกรอบความคิดของคุณเองไปได้

เพื่อนๆ เองก็อย่าลืมเดินตามแรงจูงใจที่อยู่ภายในของตัวเพื่อนๆ เอง แล้วก็รับฟังความเห็นจากคนอื่นๆ ทั้งจากคนที่เข้าใจและไม่เข้าใจในเรื่องที่เราคิดอยู่นะครับ เผื่อจะได้ช่วยกันมีความคิดดีดีมาช่วยให้โลกใบนี้ดีขึ้นกัน

Reference setthasat.com Jan 05, 2012

ที่มา thaitrainingzone.com

Relate topics