วิธีคำนวณผลตอบแทน - ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
เรื่องของการลงทุนนั้น สิ่งที่เราต้องพูดถึงกันเป็นประจำก็คือ “ผลตอบแทนการลงทุน” เพราะนี่คือหัวใจสำคัญที่จะบอกว่านักลงทุนแต่ละคนประสบความสำเร็จแค่ไหน การวัดผลตอบแทนการลงทุนนั้น ถ้าวัดกันด้วยเม็ดเงินที่ลงทุนเพียงครั้งเดียวและในเวลาสั้น ๆ ก็เป็นเรื่องที่ทำได้ไม่ยาก ตัวอย่างเช่น ถ้าตอนต้นปีเรามีเงินลงทุน 1 ล้านบาท พอถึงปลายปีเงินกลายเป็น 1.1 ล้านบาท โดยที่เราไม่ได้ใส่เงินเพิ่มหรือเอาเงินออกมาจากการลงทุนเลย แบบนี้แปลว่าผลตอบแทนเท่ากับ 10% ต่อปี ซึ่งหาได้โดยการเอาจำนวนเงินปลายปีลบด้วยเงินต้นปีหารด้วยเงินตอนต้นปีคูณด้วยร้อย นี่ก็คือการคำนวณหาผลตอบแทนพื้นฐานของ “ผลตอบแทนต่อปี” ที่เราใช้พูดถึงหรืออ้างอิงกันตลอด
นักลงทุนผู้มุ่งมั่นนั้นย่อมไม่ลงทุนเพียงปีเดียวและไม่วัดผลเพียงปีเดียว การลงทุนหลายปีนั้นทำให้เราต้องวัดผลหลายปีแล้วนำมาหาค่า “ผลตอบแทนเฉลี่ยต่อปี” เพื่อที่จะนำไปเปรียบเทียบกับค่าผลตอบแทนอ้างอิงต่าง ๆ ได้ แต่ “ผลตอบแทนเฉลี่ยต่อปี” นี้มีวิธีคิดหลายวิธีซึ่งอาจจะให้ผลที่แตกต่างกันมากจนทำให้เราเข้าใจผิดนึกว่าเราทำผลงานได้ดีทั้งที่ผลงานเราไม่ได้เรื่องก็เป็นได้ ลองมาดูกันว่ามีวิธีคิดผลตอบแทนเฉลี่ยแบบไหนบ้างและเราควรเลือกใช้วิธีไหน
วิธีที่ง่ายที่สุดแต่เป็นวิธีที่ไม่ดีเลยก็คือวิธีหาผลตอบแทนเฉลี่ยแบบเลขคณิต นี่คือการเอาผลตอบแทนแต่ละปีมารวมกันแล้วหารด้วยจำนวนปี ยกตัวอย่างเช่น เริ่มต้นปีแรกเรามีเงินลงทุน 1 ล้านบาท พอถึงสิ้นปีแรกพอร์ตเราเพิ่มขึ้นเป็น 2 ล้านบาท (ตัวเลขนี้รวมปันผลและมูลค่าหุ้นที่เราถืออยู่) เราคำนวณได้ว่าผลตอบแทนปีที่ 1 เท่ากับ 100% ตอนเริ่มปีที่ 2 เราไม่ได้เอาเงินออกเลยแต่ลงทุนต่อไปจนถึงสิ้นปีที่ 2 ปรากฏว่าเราขาดทุน มูลค่าพอร์ตกลับมาอยู่ที่ 1 ล้านบาท เราคำนวณหาค่าผลตอบแทนได้เท่ากับ 1 ลบด้วย 2 หารด้วย 2 คูณด้วย 100 ได้เท่ากับ ติดลบ 50% ดังนั้น ถ้าเราหาค่าเฉลี่ยก็จะพบว่าผลตอบแทนต่อปีเท่ากับ 100 - 50 หารด้วย 2 เท่ากับ 25% ต่อปี ซึ่งดูแล้วก็เป็นตัวเลขที่ดีเยี่ยม แต่ถ้าดูของจริงก็คือ หลังจากลงทุนมา 2 ปี เงินของเราก็ยังเท่าเดิมคือ 1 ล้านบาทซึ่งแปลว่าเราไม่ได้ผลตอบแทนอะไรเลย ผลตอบแทนควรจะเป็น “ศูนย์เปอร์เซ็นต์ต่อปี” และนี่นำมาสู่วิธีการคิดผลตอบแทนที่ถูกต้องกว่าที่เราเรียกว่า “ผลตอบแทนเฉลี่ยต่อปีแบบทบต้น”
ปัญหาของผลตอบแทนเฉลี่ยแบบเลขคณิตนั้นก็คือ ผลตอบแทนของแต่ละปีที่ขึ้น ๆ ลง ๆ และเรื่องของเม็ดเงินลงทุนในแต่ละปีที่ไม่เท่ากันเพราะเราเอาเงินที่กำไรในปีก่อนมา “ทบต้น” ลงไปอีก เช่นในปีแรกเราลงทุนเพียง 1 ล้านบาทและเราทำกำไรอีก 1 ล้านบาทหรือกำไร 100% กลายเป็น 2 ล้านบาท แต่ในปีที่ 2 แม้ว่าเราจะขาดทุนเพียง 50% แต่เราลงทุนถึง 2 ล้านบาท ดังนั้น แม้จะขาดทุนเป็นเปอร์เซ็นต์น้อยกว่ากำไรที่ได้ในปีแรกถึงเท่าตัว แต่เม็ดเงินที่ใช้ก็มากกว่าถึงหนึ่งเท่าตัวเช่นกัน ผลก็คือ กำไรที่ได้มาในปีแรกหายหมด วิธีแก้ก็คือ เราต้องคำนวณโดยการสมมุติเสมือนหนึ่งว่าเราได้ผลตอบแทนเท่ากันทุกปีและเงินที่ได้เพิ่มขึ้นมาในแต่ละปีไม่มีการนำออกไปใช้แต่ลงทุน “ทบต้น” ลงไปทุกปี ถ้าคิดแบบนี้แล้วผลตอบแทนจะเป็นอย่างไร?
ในกรณีของตัวอย่างก็คือ เรารู้ว่าลงทุนมา 2 ปี ผลตอบแทนเป็นศูนย์เปอร์เซ็นต์ เพราะฉะนั้น ผลตอบแทนเฉลี่ยต่อปีแบบทบต้นก็ต้องเป็น ศูนย์เปอร์เซ็นต์แน่นอน แต่ในกรณีอื่น ๆ การหาผลตอบแทนเฉลี่ยแบบทบต้นนั้น เราต้อง “ลองผิดลองถูก” ตัวอย่างเช่น เราลงทุนมา 3 ปี จาก 1 ล้านบาท กลายมาเป็น 1.6 ล้านบาท เท่ากับว่า 3 ปีได้เพิ่มขึ้น 60% ถ้าคิดแบบไม่ทบต้นเราก็จะได้ผลตอบแทนเฉลี่ยปีละ 20% แต่ถ้าคิดแบบทบต้นเราจะต้องได้น้อยกว่านี้ (เสมอ) สมมุติว่าให้ได้สัก 16% ต่อปี ดังนั้นจบปีแรกพอร์ตของเราจะกลายเป็น 1.16 ล้านบาท ปีที่สองจาก 1.16 ล้านบาทผลตอบแทน 16% ก็จะกลายเป็น 1.35 ล้านบาท ปีที่สาม จาก1.35 ล้านบาทโต 16% ก็จะกลายเป็น 1.56 ล้านบาท ซึ่งยังต่ำกว่า 1.6 ล้านบาท ที่เรามีอยู่ นั่นแปลว่าผลตอบแทนทบต้นของเราจะต้องมากกว่า 16% ต่อปี ดังนั้น เราลองสมมุติใหม่เป็น17% ต่อปี วิธีคิดก็แบบเดิม นั่นคือ เอา 1 คูณด้วย 1.17 สามครั้งซึ่งได้เท่ากับ 1.6 ล้านพอดี ดังนั้นคำตอบก็คือ เราได้ผลตอบแทนทบต้นเฉลี่ยต่อปี 17% ผมอธิบายมายืดยาวเพื่อให้รู้ความหมาย แต่วิธีคำนวณหาผลตอบแทนเฉลี่ยแบบทบต้นต่อปีนั้น จริง ๆ แล้วสามารถคำนวณได้ง่าย ๆ จากเครื่องคิดเลขทางการเงินราคาไม่แพง
ปัญหาต่อมาสำหรับนักลงทุนก็คือ เรามักจะมีการ “เพิ่มเงินลงทุน” เนื่องจาก เรามีเงินเหลือจากรายได้อื่นเช่นจากเงินเดือนหรือโบนัส หรือในบางครั้งเราอาจจะเอาเงินออกหรือ “ถอนเงินลงทุน” บางส่วนเพื่อไปใช้อย่างอื่น เราจะทำอย่างไร? วิธีของผมก็คือ เอาง่าย ๆ ให้คิดว่าเงินทุกบาทที่เข้าหรือออกให้คิดเสมือนว่าเกิดขึ้นในช่วงต้นปีของปีที่มีเงินเข้าหรือออกนั้น และก็คิดผลตอบแทนไปตามปกติ นั่นก็คือ ผลตอบแทนต่อปีเท่ากับมูลค่าพอร์ตปลายปีลบต้นปีหารด้วยพอร์ตตอนต้นปีคูณด้วยร้อย วิธีนี้อาจทำให้ตัวเลขผลตอบแทนคลาดเคลื่อนบ้าง แต่ในระยะยาวแล้วมันก็มักจะไม่เปลี่ยนแปลงภาพรวมของผลตอบแทนอย่างมีนัยสำคัญ แต่ถ้ามีกรณีการเพิ่มเงินหรือถอนเงิน เวลาจะคำนวณหาค่าผลตอบแทนเฉลี่ยแบบทบต้นควรจะต้องปรับมูลค่าของพอร์ตให้เริ่มจากฐาน 100 ในปีแรกแทนที่จะเป็นตัวเลขเม็ดเงินเป็นบาท ซึ่งจะทำให้การคำนวณง่ายขึ้น
วิธีคำนวณแบบที่ผมใช้นี้ เป็นวิธีหนึ่งและอาจไม่ใช่วิธีที่ดีที่สุดแต่เป็นวิธีที่น่าจะ “ประมาณว่าถูก” และเพียงพอในทางปฏิบัติ การใช้วิธีที่ซับซ้อนเกินไปอาจจะทำให้เราสับสนและพลาดจาก “ภาพใหญ่” ที่ว่า ผลการลงทุนของเรานั้นเป็นอย่างไรในช่วงเวลาที่ยาวนาน
ที่มา www.stock2morrow.com
Relate topics
- ตัวแปรสำคัญที่สามารถจะอธิบายถึงลักษณะผลตอบแทนของบัฟเฟตต์
- บริษัทดี ๆ ที่มี ROE มากกว่า 25% ในปี 2557
- 3 ตัวช่วย รวยด้วยหุ้นเทคนิค จาก ออมมันนี่
- 4 ความผิดพลาดซ้ำซากในการเทรด
- สรุปหนังสือ “Beating the Street" ของ Peter Lynch โดย รู้ทันหุ้นบ่าย
- ช้อป 20 หุ้นหลบภัย P/E ต่ำ พื้นฐานดีราคามีอัพไซด์ :ยก RML-ANAN-SPALI
- 10 หุ้นปันผลเด่นจ่ายเกิน 5% ติดกัน 5 ปี
- งบ-ผลประกอบการอย่างย่อของทุกบริษัทในไตรมาส 3
- ผลจากราคาน้ำมันลดลง
- เจ้ามือกับรายย่อย
- หุ้นที่มีผลตอบแทนจากเงินปันผลสูงสุด 10 อันดับแรกของปี 2009-2014
- เข็มทิศลงทุน
- คำสอนนักลงทุน จาก ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
- หุ้นจ่ายปันผลสูง ปี 57
- หมัดน๊อก 35 หมัดบนสังเวียนชีวิตที่ผมชกมา 29 ปี ของ วอน์เรน บัฟเฟต
- วิถีมหาเศรษฐี
- หุ้นถูก PE และ PBV ต่ำกว่าตลาด เดือนสิงหาคม 2557
- "หุ้น 10 เด้ง" ของ...ปีเตอร์ ลินช์
- เทคนิคหาหุ้น 10 เด้ง แบบ Rakesh Jhunjhunwala เจ้าของฉายา Warren Buffet แห่ง India
- หุ้นจ่ายปันผลยาว 5 ปี เกิน 5%