10 ปี พอร์ตหุ้น "หลักสิบลบ." "เปา-ปราการ สมใจเพ็ง"
เปลือยชีวิตลงทุน พ่อหนุ่มนักเขียนเรื่อง Out of My Mind on Investment “ปราการ สมใจเพ็ง” จากทุน 5 หมื่นบาท ขึ้นแท่นเจ้าของพอร์ต “หลักสิบล้าน"
“ลองคุยกับนักลงทุนคนนี้ดูนะ เขาเป็นคนเขียนหนังสือเรื่อง Out of My Mind on Investment วิธีคิดของเขาน่าสนใจทีเดียว” “โจ-อนุรักษ์ บุญแสวง" นายกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า (ประเทศไทย) เจ้าของนามแฝง "โจ ลูกอีสาน" แนะนำให้ “กรุงเทพธุรกิจ Biz Week” ไปทำความรู้จัก “เปา-ปราการ สมใจเพ็ง” เจ้าของนามแฝง Out of My Mind ตามคำร้องขอ
ร้านกาแฟชื่อดังระดับโลก ย่านเรียบทางด่วน รามอินทรา คือ จุดนัดพบ “เปา-ปราการ” เดินเข้ามาในร้านพร้อมภรรยา มือข้างหนึ่งถือหนังสือเรื่อง Out of My Mind on Investment เล่ม 1 ติตตัวมากด้วย “คงไม่ได้นั่งคุยด้วย เปาคุยเก่งอยู่แล้ว ยิ่งคุยเรื่องการลงทุนคงยาว” หญิงคู่ใจ “เปา” เอ่ยปากเพื่อขอตัวไปธุระ
หนังสือเล่มนี้จะวางขายเฉพาะใน Facebook ชื่อ Out Of My Mind on Value Investment ยอดพิมพ์ครั้งแรก 1,000 เล่ม ราคาเล่มละ 200 บาท ตอนนี้น่าจะเหลือประมาณ 200 เล่ม ตั้งใจจะพิมพ์เล่ม 2 เร็วๆนี้ เนื้อหาจะเข้มข้นกว่าเล่มแรกมาก เล่มแรกออกแนวอ่านง่ายๆ เพราะหนังสือเล่มนี้ทำให้มีโอกาสได้คุยกับ “โจ ลูกอีสาน” ผ่านตัวหนังสือมากกว่าเจอตัวเป็นๆ
“ผมไม่ค่อยไปมิตติ้งกับกลุ่มนักลงทุนวีไอ ส่วนใหญ่จะคุยกันผ่านแมสเสจ เพราะต้องการอยู่ไกลแหล่งข้อมูลให้มากที่สุด ทุกครั้งที่จะซื้อหุ้นอะไรสักตัว มักเลือกลงทุนหลังได้อ่านข้อมูลต่างๆจากสื่อเท่านั้น ถือเป็นแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้ หากเพื่อนอยากเล่าข้อมูลอะไรให้ฟัง ผมฟังได้ แต่ไม่เคยไปขอฟัง เมื่อฟังแล้วไม่เคยปฎิบัติตาม” เจ้าของพอร์ต “หลักสิบล้านบาท” บอกถึงตัวตนของตัวเอง
“ชายวัย 39 ปี” ในมาดนิ่งๆ เริ่มแชร์ประวัติชีวิตให้ฟังว่า พื้นเพเป็นคนนนทบุรี มีน้องชาย 1 คน อายุ 36 ปี คุณพ่อยึดอาชีพผู้จัดการสาขาธนาคารพาณิชย์ เปลี่ยนมาแล้วหลากหลายแบงก์ ส่วนแม่เป็นอาจารย์สอนวิชาภาษาอังกฤษอยู่ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร
หลังเรียนจบปริญญาตรี คณะบริหารธุรกิจ สาขาการตลาด มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ตัดสินใจบินไปเรียนต่อปริญญาโท MBA ประเทศสหรัฐอเมริกา 2 ปี เรียนจบบินกลับเมืองไทยทันที ไม่ได้มีโอกาสทำงานหาประสบการณ์ที่โน้นเลย สมัยก่อนยังหาความชอบของตัวเองไม่เจอ ทำให้ตอนปริญญาตรีเลือกไปสอบโควต้าเรียนดี เมื่อสอบติดและเรียนไปสักพักถึงค่อยรู้สึก “สนุก” น่าเสียดายหากวันนั้นรู้ว่า ตัวเองชอบเรื่องการลงทุน คงสนุกกว่านี้อีกหลายเท่า เขา สถบ
ก่อนเหินฟ้าไปเรียนต่อปริญญาโท “เปา” มีโอกาสได้ทำงานฝ่ายโฆษณา 1 ปี ในบริษัท สยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด ซึ่งบริษัทในเครือของบริษัท ปูนซีเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SCC ตอนนั้นพยายามหางานที่ทำแล้วรู้สึก “สนุก”
ด้วยความที่เป็นคนชอบการเปลี่ยนแปลง ทำให้มักย้ายที่ทำงานทุกๆ 2 ปี ถือคติที่ว่า การทำงานคือ การเรียนรู้เรื่องใหม่ๆ เมื่อเราต้องย้ายไปทำงานที่อื่น นั่นหมายความว่า เราต้องมีของใหม่ๆไปแลกกับบริษัท ขณะเดียวกันบริษัทต้องมีของมาแลกคืนเราเช่นกัน ถือเป็นการเสริมซึ่งกันและกัน
อาชีพมุนษย์เงินเดือนแห่งที่ 2 เริ่มต้นที่ฝ่ายการตลาดในเครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือ ซีพี ทำงานได้ 2 ปี ย้ายไปหาความรู้เพิ่มเติมต่อที่บริษัท พิณ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายของเล่นเด็ก
จากนั้นย้ายไปที่บริษัท มาลี เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด บริษัทในเครือของบริษัท มาลีสามพราน จำกัด (มหาชน) หรือ MALEE ก่อนจะกลับมาทำงานที่เครือซีพีใหม่อีกรอบ ตามคำเชื้อเชิญของเจ้านายเก่าที่ต้องการคนมาทำเรื่องกลยุทธ์การตลาด
ปัจจุบันลาออกจากงานประจำมาแล้ว 3 ปี เรียกว่า จบชีวิตมุนษย์เงินเดือนก็ว่าได้ บังเอิญคุณพ่อท่านป่วยหนัก ด้วยโรคอัมพาต หลังเส้นเลือดในสมองแตก ทำให้ต้องเข้าออกโรงพยาบาลบ่อยๆ ประจวบเหมาะกับภรรยากำลังจะคลอดลูกคนแรก “เปา” ยื่นโทรศัพท์มือถือให้ “บิสวีค” ดูหน้าตา “น้องเพลิน” ลูกสาววัย 4 ขวบ ปัจจุบันอาการคุณพ่อออกแนวทรงๆตัวแล้วจึงตัดสินใจจ้างคนมาช่วยดูแลท่าน
“ปราการ” เล่าต่อว่า การลงทุนในตลาดหุ้นเกิดขึ้นในช่วงอายุ 30 ปี ตอนทำงานในบริษัท มาลี เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด สมัยก่อนเคยฝันอยากเป็นเจ้าของธุรกิจ สุดท้ายไม่เคยทำได้ เพราะยิ่งเราทำงานมากเท่าไรยิ่งรู้สึกว่า การเป็นเจ้าของบริษัทไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะคุณต้องผชิญหน้ากับปัจจัยมากมาย
ที่สำคัญคุณต้องมีสายป่านยาวมาก ต้องมีเครือข่ายกว้างขว้าง และต้องใช้เงินลงทุนค่อนข้างสูง อีกอย่างตอนนั้นยังคิดไม่ออกว่า จะทำธุรกิจอะไร ช่วงนั้นทำได้เพียงสะสมประสบการณ์และเงินทุน แต่เงินเก็บส่วนใหญ่มักหมดไปกับการท่องเที่ยวทั่วไป ตามประสาคนอายุ 30 ปี ที่เมื่อมีตำแหน่ง มีตังค์จะเริ่มเที่ยว
วันหนึ่งของปี 2547 น้องชายที่กำลังเรียนอยู่ประเทศเดนมาร์ก เกิดมีความสนใจเรื่องการลงทุนในตลาดหุ้นขึ้นมา เขาจึงแนะนำเราว่า หากต้องการเป็นเจ้าของธุรกิจให้ลองไปเล่นหุ้นและถ้าอยากรู้ว่า ตลาดหุ้นดีอย่างไรให้ลองไปศึกษาประวัติของ “วอร์เรน บัฟเฟตต์” มหาเศรษฐีคนดังของโลก เพราะในหนังสือจะบอกว่า ทำอย่างไรจึงจะเป็นเจ้าของธุรกิจได้โดยไม่ต้องเริ่มต้นจาก “ศูนย์”
แต่หนังสือเรื่องการลงทุนเล่มแรกๆที่อ่าน คือ เรื่อง The Intelligent Investor ของ Benjamin Graham ซึ่งเขาเป็นอาจารย์ของ “วอร์เรน บัฟเฟตต์” ฉะนั้นเราควรเริ่มต้นจากแหล่งที่ถูกต้องที่สุด อ่านเสร็จแล้วรู้สึก “มึน” ในช่วงระยะเวลา 10 ปีของการลงทุนในตลาดหุ้น ผมอ่านหนังสือเล่มนี้มา 3 รอบ อ่านจากหนังสือ 1 รอบ ที่เหลืออีก 2 รอบ ฟังจากออดิโอไฟล์ที่มีคนอ่านเป็นภาษาอังกฤษแล้วมาโหลดไว้ใน YOUTRUE เรานอนฟังไปเรื่อยๆสบายดีไม่ต้องอ่านเอง
เขา เล่าต่อว่า สิ่งที่ได้จากหนังสือเล่มนี้ แน่นอนหนีไม่พ้นเรื่องแนวคิดที่ว่า การลงทุนคือ วิทยาศาสตร์เป็นเรื่องของการเข้าใจพื้นฐานของธุรกิจ ซึ่งมันตรงกับสายการงานด้านการตลาดของเราที่มีหน้าที่หลักในการวิเคราะห์ธุรกิจ ตอนนั้นรู้สึกว่า เออ!! การลงทุนในตลาดหุ้นถือเป็นการต่อยอดความรู้ที่เรามีอยู่ได้เป็นอย่างดี ทำให้ช่วงนั้นมั่นใจว่า การลงทุนน่าจะเป็นแนวทางที่เหมาะกับตัวเรา
หลังอ่านหนังสือจบรอบแรก ผมตัดสินใจลงทุนทันที ด้วยการเปิดพอร์ตลงทุน 50,000 บาท กับบริษัทหลักทรัพย์ ซิมิโก้ ทั้งตัวมีเงินแค่นี้หละ เพราะต้องแบ่งเงินไปแต่งงานด้วย หุ้นตัวแรกที่เลือกเข้าพอร์ต คือ หุ้น ศรีไทยซุปเปอร์แวร์ หรือ SITHAI ซึ่งซื้อขายอยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรม สินค้าอุปโภคบริโภค หมวดธุรกิจของใช้ในครัวเรือนและสำนักงาน
ด้วยความที่หนังสือของ Benjamin Graham แนะนำไว้ว่า นักลงทุนควรซื้อลงทุนหุ้นที่มีมูลค่าหุ้นทางบัญชีต่อหุ้น หรือ Book Value และอัตราส่วนราคาต่อกำไร หรือ ค่า P/E ในอัตราต่ำๆ รวมถึงต้องเลือกบริษัทที่มีแบรนด์เป็นที่รู้จักในอันดับต้นๆของอุตสาหกรรม ช่วงนั้นหุ้น ศรีไทยซุปเปอร์แวร์ ถือว่า เข้าคอนเซ็ปต์มากที่สุด จำต้นทุนที่เข้าไปซื้อไม่ได้ แต่ผลของการลงทุนคือ “ไม่ขาดทุน” ได้กำไรแต่ไม่เปรี้ยงป้างหลายเด้ง
เมื่อเริ่มต้นได้สวย เราตั้งใจว่า จะลงทุนในตลาดหุ้นไปเรื่อยๆ หวังสร้างพอร์ตลงทุนให้ถึงจุดที่สามารถอยู่ได้ด้วยเงินปันผล ฉะนั้นเมื่อมีเงินเหลือเก็บ เราจะใส่เพิ่มเติมในหุ้นตลอด ผ่านมา 1 ปี รู้สึก “สนุก” เพราะได้นั่งวิเคราะห์ธุรกิจไปเรื่อยๆ
เชื่อหรือไม่!! ตลอด 10 ปี แห่งการลงทุน ผมไม่เคยไม่สนุก และไม่เคยขาดทุน ที่ผ่านมาไม่ได้มองว่า เมื่อราคาหุ้นลดลงต่ำกว่าต้นทุน คือ การขาดทุน แต่จะมองว่า หากวิเคราะห์โมเดลธุรกิจ เพื่อประเมินหามูลค่าเหมาะสมได้แล้ว จงรีบหาจังหวะเข้าซื้อในราคาที่ต่ำกว่าราคาเหมาะสม ระหว่างทางลงทุนหากเจอหุ้นตัวอื่นที่ให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าควรย้ายออก หากทำแบบนี้เรื่อยๆ พอร์ตมีโอกาสเติบโตต่อเนื่อง
“ผมมักเลือกซื้อหุ้นที่มีราคาต่ำกว่ามูลค่าที่ประเมินไว้เฉลี่ย “ร้อยเปอร์เซ็นต์”
หลังลงทุนในหุ้น ศรีไทยซุปเปอร์แวร์ มีโอกาสถือหุ้นตัวอื่นๆอีกประมาณ 4-5 ตัว ในช่วงปีแรกๆ ของการลงทุน ผลออกมา “ไม่ขาดทุน” แต่กำไรไม่เยอะเท่าไร ในช่วง 3 ปีแรก ยังคงวนเวียนหากลยุทธ์การลงทุนที่เหมาะกับจริตของตนเอง ระหว่างนั้นจึงเน้นลงทุนแนว Benjamin Graham แต่เมื่อมีโอกาสได้อ่านหนังสือของนักลงทุนเก่งๆคนอื่น เช่น “ปีเตอร์ ลินซ์-วอร์เรน บัฟเฟตต์-จอร์จ โซรอส” จึงค่อยๆเปลี่ยนแนวทาง หรือเป็นเพราะหุ้นดีๆเริ่มหายากทำให้ต้องเปลี่ยนแนวลงทุนก็ไม่รู้
“เปา” บอกว่า หลังปีที่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจ โดยเฉพาะปี 2549 และปี 2551 ถือเป็น “ปีทอง” ของการลงทุน โดยปี 2550 ผมได้กำไร “ร้อยเปอร์เซ็นต์” ขณะที่ปี 2552 ได้กำไร 180 เปอร์เซ็นต์ ไม่แน่ใจตัวเลขเท่าไรนัก เขาทำท่าคิด
แต่วิกฤติการเมืองในปี 2556 ทำให้พอร์ตลงทุนสิ้นปี 2556 ติดลบประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ เพราะไม่ได้เปลี่ยนตัวเล่นเลยออกแนวนั่งอยู่เฉยๆตลอดปี จริงๆเรารู้อยู่แล้วว่า สถานการณ์แบบนี้อาจทำให้ตลาดหุ้นไทยเป็นเช่นนี้ แต่ด้วยความที่ยังมีความมั่นใจในพื้นฐานของหุ้นที่ถืออยู่จึงไม่เคลื่อนไหวไปไหน
“ปกติจะพยายามไม่ขยับพอร์ตลงทุนบ่อยๆ แต่จะเน้นถ่ายน้ำหนักหุ้นที่มีอยู่ในมือไปตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป ตัวไหนลูกรักจะถือมากหน่อย ตัวไหนลูกชังจะถือน้อยหน่อย วันนี้ในพอร์ตมีลูกรักอยู่ในกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ ประเภทบ้าน คอนโดมิเนียม ส่วนลูกชังอยู่ในกลุ่มอสังหาริมทรัพย์เหมือนกัน แต่ทำพวกศูนย์การค้า”
ส่วนปีที่พอร์ตลงทุน “ติดลบมากที่สด” คือ ปี 2549 ช่วงเกิดวิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง ตอนโน้นพอร์ตติดลบมากถึง 30 เปอร์เซ็นต์ แต่วิกฤติในปี 2551 พอร์ตลงทุนไม่ติดลบ เพราะตอนนั้นลงทุนน้อยยังเล่นแนว Benjamin Graham
“นักลงทุน VI” บอกว่า “ผมชอบวิธีคิดของ “ชาร์ลี มังเกอร์” ผมว่าเขาฉลาดกว่า “วอร์เรน” จริงอยู่ “วอร์เรน” รวยมาก แต่วิถีการใช้ชีวิตของ “วอร์เรน” ไม่กว้างเท่า “ชาร์ลี” เพราะเขาเป็นทั้งทนายความ นักวิเคราะห์ และนักวิทยาศาสตร์ เป็นต้น เวลาลงทุนเขามักให้ “วอร์เรน” ออกหน้าตลอด ส่วนเขาจะมุ่งความสนใจไปในเรื่องปรัชญาการใช้ชีวิตมากกว่า
“ผมอยากเป็นนักลงทุนแบบ “ชาร์ลี มังเกอร์” ที่วันๆไม่ได้อยู่เพียงแต่เรื่องการลงทุน ชีวิตเราควรออกไปรู้จักโลกภายนอกมากกว่านี้ วิธีคิดของ “ชาร์ลี” จะเน้นหนักไปทางเรื่องจิตวิทยา และการวิเคราะห์แบบพลิกแพลง นำความรู้จากแขนงนั้นมาผสมแขนงนี้”
ส่วนตัวไม่มีบุคคลต้นแบบในการลงทุนที่เป็นคนไทย แต่ที่นับถือแน่นอน คือ “ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร” เคยซื้อหนังสือเล่มแรกๆที่อาจารย์เขียนมาอ่าน แต่หลังๆมักอ่านของ “วอร์เรน” ก่อนเป็นอันดับต้นๆ ผมไม่อยากอยู่ใกล้แหล่งข้อมูลในเมืองไทยมากเกินไป เพราะอาจถูกหลอกและเกิดความรู้สึกอคติทั้งเชิงบวกและเชิงลบ
ติดตามเรื่องราวการลงทุนของ “เจ้าของพอร์ตลงทุน “หลักสิบล้านบาท” ชายที่มีโลกส่วนตัวสูง ตอนจบได้ในสัปดาห์หน้า หากคุณรู้เป้าหมายพอร์ตลงทุนในอีก 31 ปีข้างหน้าของเขาแล้วคุณจะต้องร้อง “อู้หู”!!
ที่มา www.stock2morrow.com
Relate topics
- ตัวแปรสำคัญที่สามารถจะอธิบายถึงลักษณะผลตอบแทนของบัฟเฟตต์
- บริษัทดี ๆ ที่มี ROE มากกว่า 25% ในปี 2557
- 3 ตัวช่วย รวยด้วยหุ้นเทคนิค จาก ออมมันนี่
- 4 ความผิดพลาดซ้ำซากในการเทรด
- สรุปหนังสือ “Beating the Street" ของ Peter Lynch โดย รู้ทันหุ้นบ่าย
- ช้อป 20 หุ้นหลบภัย P/E ต่ำ พื้นฐานดีราคามีอัพไซด์ :ยก RML-ANAN-SPALI
- 10 หุ้นปันผลเด่นจ่ายเกิน 5% ติดกัน 5 ปี
- งบ-ผลประกอบการอย่างย่อของทุกบริษัทในไตรมาส 3
- วิธีคำนวณผลตอบแทน - ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
- ผลจากราคาน้ำมันลดลง
- เจ้ามือกับรายย่อย
- หุ้นที่มีผลตอบแทนจากเงินปันผลสูงสุด 10 อันดับแรกของปี 2009-2014
- เข็มทิศลงทุน
- คำสอนนักลงทุน จาก ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
- หุ้นจ่ายปันผลสูง ปี 57
- หมัดน๊อก 35 หมัดบนสังเวียนชีวิตที่ผมชกมา 29 ปี ของ วอน์เรน บัฟเฟต
- วิถีมหาเศรษฐี
- หุ้นถูก PE และ PBV ต่ำกว่าตลาด เดือนสิงหาคม 2557
- "หุ้น 10 เด้ง" ของ...ปีเตอร์ ลินช์
- เทคนิคหาหุ้น 10 เด้ง แบบ Rakesh Jhunjhunwala เจ้าของฉายา Warren Buffet แห่ง India